.

...........   ล่องแพสุดสายน้ำแห่งแม่น้ำแม่กลอง  ..........

 

 

ล่องแพสุดสายน้ำแห่งแม่น้ำแม่กลอง

แม่น้ำแม่กลอง  หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า  แม่น้ำแควใหญ่  แต่ไม่มีใครรู้จักชื่อนี้กันนัก  แม่น้ำแควใหญ่และแม่น้ำแควน้อยไหลรวมกันเป็นแม่น้ำแม่กลอง  ต้นน้ำของแม่น้ำแควใหญ่หรือแม่กลองมีต้นกำเนิดอยู่ที่เขตอำเภออุ้มผาง  จังหวัดตาก  ส่วนแม่น้ำแควน้อยมีต้นกำเนิดอยู่ที่เขตอำเภอสังขละบุรี  จังหวัดกาญจนบุรี

การท่องเที่ยวป่ามีหลายอย่างตามแต่ใครจะชอบหรือถนัด  เช่น  ขับรถลุยเข้าไปพักแรมในป่าบ้าง  เดินท่องป่าเที่ยวน้ำตกหรือภูเขาบ้าง  ล่องเรือหรือล่องแพบ้าง  การท่องเที่ยวในรูปแบบเช่นนี้ต่างสะใจในอารมณ์ของนักท่องป่า  ในส่วนของการล่องเรือหรือล่องแพไม่ค่อยจะมีมากนัก  เพราะสภาพภูมิประเทศของเราไม่เอื้ออำนวย  เช่น ล่องได้เฉพาะฤดูฝน  หรือระยะทางการล่องได้ไม่ไกล  ลำห้วยต่าง ๆ มีแต่โขดหินจนเรือหรือแพล่องผ่านไม่ได้

     
    <<<<< สายน้ำแม่กลองก่อนถึงน้ำตกทีลอเร

>>>>> น้ำตกทีลอเรไหลลงแม่น้ำแม่กลองตลอดทั้งปี

 
       
 

การล่องเรือยางถือว่าปลอดภัย  แต่ถ้าล่องแพไม้ไผ่ต้องใช้ความสามรถของทุกคนที่อยู่บนแพ  เรือยางที่ทนต่อการขีดข่วนราคาก็แพง  ซื้อมาใช้เองคงไม่คุ้มกับความอยาก  คงต้องอาศัยกับผู้ที่ให้บริการด้านนี้  ถ้าเป็นแพไม้ไผ่ก็จะหาไม้ไผ่ได้ยาก  บางแห่งไม่มีไม้ไผ่  มิใช่ว่าจะใช้ไม้ไผ่ทุกชนิดต่อแพได้  หรือใครจะนำเรือแคนนูมาล่องแก่งดูก็น่าจะดี

สำหรับแม่น้ำแม่กลอง  ตั้งแต่ตัวอำเภออุ้มผางลงมาจะมีไม้ไผ่อยู่ตลอดริมฝั่งแม่น้ำ  อาจจะมีบางช่วงที่มีไม้ไผ่ไม่มากนัก  อาจจะเป็นไม้ไผ่ลำเล็กหรือเป็นไม้ไผ่มีหนาม  หรือมีแต่ไม้ไผ่ตงป่า  สำหรับไม้ไผ่ตงป่าใช้ทำแพไม่ค่อยดีนัก  เพราะข้อไม้ไผ่ตงทุกข้อจะมีรูถึงกันตลอด  ทำให้น้ำเข้าในรูกระบอกแล้วแพจะจมน้ำ  และเสี้ยนหรือผิวของไม้ไผ่ตงป่านั้นคมมากเหมือนใบมีดโกน

     
                 
    <<<<< มุมมอง มองลอดจากด้านในของน้ำตกออกมา

>>>>> น้ำตกนิรนาม อยู่เลยน้ำตกทีลอเรไปประมาณ100เมตร

 
       
       

ในที่นี้จะพูดถึงการล่องแพด้วยไม้ไผ่  ถ้าใช้ไม้ไผ่ลำใหญ่ก็ใช้ประมาณ๗- ๘ ลำ  ความยาวประมาณ ๗-๘ เมตร  ถ้าต่อแพใหญ่เกินไปก็จะผ่านช่องหินลำบาก  และการบังคับแพทำได้ยากกว่าแพเล็ก ๆ  แต่ก็อยู่กับการใช้บรรทุกรับน้ำหนัก  เชือกสำหรับใช้ผูกก็คงเป็นตอกไม้ไผ่  ถ้าจักตอกไม่เป็นเป็นก็ให้ใช้เชือกมลิลาเส้นเล็กขนาดดินสอ  การล่องแพเช่นนี้ต้องมีผู้ที่มีประสบการณ์  คงรู้จักการต่อแพไม้ไผ่ได้อย่างดี  สำหรับผู้ที่ต้องการล่องแพจากจุดเริ่มต้นจนถึงสุดทางของสายน้ำ  คือถึงน้ำเอ่อของเขื่อนศรีนครินทร์  เป็นระยะทางเกือบร้อยกิโลเมตร  โดยนับหนึ่งจากตัวอำเภออุ้มผางซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการล่องแพ  ซึ่งมีกิจกรรมล่องเรือยางและล่องแพไม้ไผ่อยู่เป็นประจำ  โดยล่องมาถึงช่วงทางไปชมน้ำตกทีลอซู  หรือเลยไปถึงหมู่บ้านปะละทะ  จากจุดเริ่มต้นจนถึงปะละทะไม่มีปัญหาในการล่อง  แต่จากบ้านปะละทะไปถึงน้ำตกทีลอเร  ต้องมีผู้ที่ชำนาญนำทางเพราะมีแก่งหินอันตรายหลายแก่ง

 

    <<<<<  แก่งหิน ภูผา และ น้ำตก

>>>>>  จุดที่แม่น้ำไหลมุดลงภูเขา

 
       
       

พอถึงน้ำตกทีลอเรแล้วถือว่าเป็นจุดสุดท้ายของการล่องแพ  เพราะจากน้ำตกนี้ไปจะเป็นแก่งมีแต่โขดหินจนแพไม่สามารถผ่านไปได้  หรือผ่านไปได้แบบสภาพที่บอบช้ำเพราะครูดกับโขดหิน  ต้องรื้อแพแล้วแบกไม้ไผ่ข้ามแก่งไปต่อแพอีก  ถ้าจะตัดไม้ไผ่ใหม่ก็จะเสียเวลาเป็นวัน  และล่องไปได้ร้อยกว่าเมตรก็ต้องรื้ออีก  หรือล่องไปได้ ๒-๓๐๐ เมตรก็ต้องเข็นแพหรือรื้อแพอีก  บางครั้งต้องงัดแพที่ติดขัดกับโขดหินท่ามกลางกระแสน้ำเชี่ยว  หรือไม่บางครั้งก็ต้องปล่อยให้แพเปล่า ๆ ไหลไปตามน้ำแล้วคอยไปจับอยู่ข้างหน้า  แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไหลลอยไปได้ทุกครั้ง  แพติดขัดกับโขดหินท่ามกลางกระแสน้ำที่เชี่ยวกรากจนแตกหัก  ต้องทิ้งแพแล้วตัดไม้ไผ่มาต่อแพอีก  ริมฝั่งแม่น้ำเป็นหน้าผาสูงชันติดน้ำเดินลำบาก  หรือเดินไม่ได้เลยต้องลอยคอไปกับน้ำ  น้ำลึกท่วมหัวจะข้ามแต่ละทีแสนจะยากนัก

 

    <<<<<   กระแสน้ำไหลเชี่ยวและลึก

>>>>>  ภูเขาที่ขวางกันกระแสน้ำตัดขาด ไหลโผล่มาอีกด้านหนึ่ง

 
       
       

เลยจากน้ำตกทีลอเรมาประมาณ ๓ ก.ม. จะถึงจุดที่แม่น้ำแม่กลองไหลมุดลอดภูเขา  ต้องรื้อแพหรือไม่ก็เข็นแพข้ามโขดหิน  โดยใช้ไม้ไผ่ยาวประมาณสองเมตร  จำนวน ๓ ท่อนรองรับแพไว้  จากน้ำมุดไปจะล่องแทบไม่ได้เลยจนถึงบ้านแม่จันทะ  แต่ช่วงก่อนถึงบ้านแม่จันทะประมาณ ๔-๕ ก.ม.  จะล่องแพได้สะดวกดี  แก่งแต่ละแก่งไม่อันตราย  ล่องเลยลงไปจนถึงห้วยทิลากือ  เป็นจุดสิ้นสุดของการล่องแพที่สบาย  ใช้เวลาประมาณเกือบ ๒ วันหรือ ๒ วันเต็ม   ถือว่าเป็นระยะทางของการล่องแพที่ไกลทีเดียว  ช่วงก่อนถึงห้วยทิลากือก็มีแก่งอีกหลายแก่งที่อาจจะทำให้แพติดขัดกับโขดหินได้

 

    <<<<<  ภูเขาสูงเสียดฟ้า ตั้งตระหง่านเป็นแนวกำแพงยักษ์

>>>>>  เบื้องล่างเป็นแก่งกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวกราด

 
       
                 
    <<<<<  น้ำตก สายน้ำ และภูผาภูเขาหินปูน

>>>>>  น้ำตกหลั่งไหลลงแม่น้ำแม่กลองไหลมาจากป่าทุ่งใหญ่ - ห้วยขาแข้ง

 
       
                 
 

จากน้ำตกทีลอเรมาจนถึงหมู่บ้านแม่จันทะ  ถ้าล่องแพมาก็ใช้เวลาประมาณ ๑๐ วัน  จะขาดเกินไปกว่านี้คงไม่มาก  เพราะต้องเสียเวลาอยู่กับแพ  แต่ถ้าเดินมาตามแม่น้ำใช้เวลาประมาณ ๓ วัน  ไม้ไผ่ก็หายากช่วงที่ล่องแพได้  เพราะชาวบ้านตัดไม้ใช้ต่อแพในการเดินทางกลับหมู่บ้าน  เมื่อเลยห้วยทิลากือมาก็มีแต่แก่งเต็มไปด้วยโขดหิน  แทบทุกแก่งถึงจะล่องผ่านไปได้แต่ก็เสี่ยงอันตรายวัดดวงกันทุกแก่ง  เพราะไม่อยากจะรื้อแพหรือปล่อยแพลอยไปอาจจะติดขัดกับโขดหิน  หินในแม่น้ำคมมาก  เพราะเป็นหินปูนถูกน้ำกัดเซาะจนคม  เป็นอันตรายต่อคนที่พลัดตกไปกระแทกกับโขดหิน  ทำให้ร่างกายฉีกขาดหรือขาแขนหักได้  หรือแพที่ถูกโขดหินในน้ำครูดถูบาดเชือกที่ผูกจนขาด

พอเลยห้วยดงวี่มาไม่ไกลนักมีแก่งใหญ่เต็มไปด้วยโขดหินล่องแพผ่านไม่ได้  เลยจากแก่งนี้ไปก็ยังมีแก่งที่อันตรายอยู่อีกไม่กี่แก่ง  จากนั้นจะล่องมาได้สบาย  ริมแม่น้ำจะพบเหล็กท่อน้ำขนาดสองนิ้ว  ทิ้งไว้คราวที่มีการสำรวจสร้างเขื่อนน้ำโจน  ด้านขวามือจะมีน้ำตกไหลลงแม่น้ำ  จากจุดนี้ไปไม่ไกลนักก็จะถึงน้ำโจน  จากน้ำตกนี้จะมีทางเดินไปทางรถยนต์ที่ตัดผ่านทุ่งใหญ่นเรศวร  ใกล้กับหน่วยซ่งไท้  ซึ่งใช้เวลาเดินไปประมาณ ๒-๓ ชั่วโมง  จากน้ำตกแห่งนี้มาก็จะถึงน้ำโจนจุดที่จะสร้างเขื่อนในอดีต  ล่องแพมาได้สะดวกสบาย  พอถึงน้ำโจนแล้วต้องรื้อแพออก  เพราะเป็นแก่งหินน้ำไหลแรง  ไม่สามารถปล่อยแพให้ไปลอยกับกระแสน้ำได้

     
                 
  <<<<<  แพที่หมดสภาพ ท่ามกลางป่าไม้และขุนเขาของแม่น้ำแม่กลอง

>>>>>  สายน้ำตก ตกจากหน้าผาสูง มีเห็นอยู่หลายแห่ง

 
   

ใต้แก่งน้ำโจนเป็นอ่าวกว้างเวิ้งว้างน้ำลึกมาก  ที่ริมฝั่งมีลานสำหรับนักท่องเที่ยวมาพัก  มีห้องน้ำพร้อมให้ความสะดวกสบาย  จากน้ำโจนนี้ไปจะล่องแพไปได้จนถึงน้ำเอ่อ  คือจุดที่น้ำเขื่อนหนุนขึ้นมาถึง  ตลอดสายน้ำไม่มีแก่งที่น่าตื่นเต้น  เพราะเรือหางยาวสามารถขึ้นมาถึงน้ำโจนได้  จากน้ำโจนจนถึงน้ำเอ่อใช้เวลาล่องแพประมาณ ๒ ชั่วโมงเท่านั้น  ตลอดทางช่วงนี้จะมีโอกาสพบเห็นสัตว์ป่าประเภท เก้ง  กวาง  กระทิง  ที่ลงมาหากินริมแม่น้ำ  ต่างจากที่ล่องแพมาจากอุ้มผางลงมาถึงน้ำโจน  ซึ่งแทบไม่มีโอกาสจะได้เห็นสัตว์ป่าเลย  นอกเสียจากพวกลิงที่หากินอยู่บนต้นไม้ริมแม่น้ำ

เมื่อล่องแพมาถึงที่น้ำเขื่อนเอ่อขึ้นถึงแล้วก็ต้องล่องแพไปจนถึงหน่วยห้วยคือ  จึงจะมีเรือออกไปได้  หรือเดินเท้ากลับก็เลือกเอา  แต่จากน้ำเอ่อมาจนถึงหน่วยหรือจุดสกัดห้วยคือ  ระยะทางไม่ไกลนักแต่ต้องใช้เวลาล่องแพประมาณ ๔-๕ ชั่วโมง  เพราะน้ำนิ่งและลึกจนไม้ถ่อหยั่งไม่ถึงดิน  ถ้าปริมาณน้ำในเขื่อนมีมากก็ต้องใช้เวลามากกว่านี้  เนื่องจากน้ำเขื่อนหนุนสูงขึ้นไปอีก  ถ้าล่องแพไปได้ช้าก็น่าจะลองเดินไปตามริมฝั่งแม่น้ำ  ต้องเดินไปตามริมฝั่งด้านขวามือ(ทิศใต้)  เพราะจุดสกัดห้วยคืออยู่ฝั่งนี้  คงเร็วกว่าการพายแพอยู่ในน้ำนิ่ง

 

<<<<< สภาพเช่นนี้ไม่ว่าจะล่องแพหรือเดินก็ยังลำบากนักหนา

>>>>> มองเห็นเป็นโขดหิน แต่มีช่องพอให้แพล่องมาได้

การล่องแพตลอดลำน้ำแม่กลองนี้  หรือจะล่องช่วงใดช่วงหนึ่งก็ตามที  ก็ต้องของอนุญาตการเข้าไป  เนื่องจากริมแม่น้ำจะมีเจ้าหน้าที่ป่าไม้ประจำหน่วยอยู่  หรือมีเจ้าหน้าที่ป่าไม้ออกลาดตระเวนอยู่เป็นระยะๆ  การเดินทางโดยการล่องแพหรือเดินเท้าก็ตาม  มิใช่ว่าจะง่ายเลยสำหรับเส้นทางสายนี้  เพราะริมฝั่งแม่น้ำทั้งสองแทบจะไม่มีพื้นที่ราบหรือหาดทราย  มีแต่โขดหินก้อนใหญ่  หรือเป็นหน้าผาสูงชันตัดตรงติดกับน้ำที่ลึกนับสิบเมตร  ต้องลอยคอว่ายน้ำไป  ภูเขาสูงชันจนไม่สามารถปีนป่ายได้  ถ้ามีเหตุจำเป็นที่ต้องเดินทางกลับโดยไม่ล่องแพ  ก็ต้องแทบหมดหวังกับการเดินทางออกมาติดกับโลกภายนอกได้  เว้นแต่อยู่ใกล้จุดตรงที่มีคนอาศัยอยู่  

และต้องผจญกับฝูงผึ้งมหาประลัยตัวใหญ่เท่านิ้วก้อยทุก ๆ วัน  ตั้งแต่เวลาเช้าพระอาทิตย์ขึ้นจนถึงเวลาเย็น  มันจะตอมตามตัว  เสื้อผ้า  เป้  อาหาร  เต็มไปหมดเหมือนเป็นรังของมัน  จึงควรมีมุ้งติดไปสักหลังดีที่สุด  เอาไว้กางกินข้าวในมุ้งในมื้อเช้าและมื้อเที่ยง  ส่วนมื้อค่ำพวกมันกลับรังเข้านอนหมดแล้ว  พวกมันจะตอมตัวช่วงที่หยุดแพเท่านั้น  ถ้าล่องแพไปมันจะบินตามไปเฉย ๆ  กระเหรี่ยงบอกวิธีป้องโดยใช้กระเทียมทาตามตัว  ส่วนคนไทยคงบอกให้ใช้ครีมทากันยุงดีกว่า

ถ้าใครเคยเดินป่าปีนเขามามากแล้ว  อยากจะเปลี่ยนรสชาติมาเป็นการล่องแพดูบ้าง  ด้วยระยะทางเป็นร้อยกิโลก็น่าจะดี  เพื่อประสบการณ์ในชีวิตที่ล่องไปกับสายน้ำ  ท่ามกลางภูเขาและป่าดงพงไพร  ถือว่าเป็นการล่องแพระยะทางไกลที่สุดของประเทศไทย  ทุกอย่างยังเป็นธรรมชาติดั้งเดิมตามที่เคยเป็นอยู่  และคุณก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ได้ล่องแพสุดสายน้ำแม่กลองตอนบน           

 

         

>>>>>>  คลิกชมภาพต่อ  >>>>>